นักการตลาดนำวิถีชีวิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมาประยุกต์ใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในปัจจุบัน

13

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจการตลาดต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ อีกทั้งอิทธิพลของสื่อ ก็มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย เนื่องจากเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลข่าวสาร ระหว่างนักการตลาดและผู้บริโภค จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้นักการตลาดเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะทางด้าน Lifestyle ของผู้บริโภค ดังนั้น Lifestyle จึงกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดทิศทางการตลาดของหลาย ๆ บริษัท เพื่อที่จะช่วยให้นักการตลาดสามารถค้นพบถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้บริโภคและสามารถตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็วและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคู่แข่งขันรายใหญ่ได้ ดังนั้น การตลาดในศตวรรษนี้จึงไม่ควรมองข้าม Lifestyle Marketing

ดังนั้น Lifestyle Marketing คือ การที่นักการตลาดนำวิถีชีวิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมาประยุกต์ใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด โดยการศึกษาในเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนักการตลาดจะได้นำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จจากการใช้กลยุทธ์การแข่งขันแบบ Lifestyle Marketing นักการตลาดสามารถใช้กลยุทธ์ Lifestyle Marketing ได้โดยการนำ Lifestyle ของผู้บริโภคมาแบ่ง Segment ควบคู่ไปกับการแบ่ง Segment แบบ Demographic ทำให้นักการตลาดไม่ได้มีแต่ข้อมูลพื้นฐานของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรู้ไปถึงอุปนิสัยใจคอ ตลอดจนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคอีกด้วย เพื่อที่นักการตลาดจะได้นำเสนอสินค้าและบริการให้เข้าถึงตัวลูกค้าได้มากขึ้น จนกระทั่งทำให้เกิด Competitive Advantage หรือความได้เปรียบทางการแข่งขัน ในภาวะการณ์ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงได้

ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของ การเปิดตัว “KTC VISA MINI” ของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ซึ่งเป็นบัตรเครดิตขนาดเล็กใบแรกของเมืองไทยที่ครอบคลุมทุกรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อตอบสนอง Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ ที่มาของการออกบัตรเครดิตในรูปแบบใหม่นี้เกิดจาก การวิจัยความต้องการของลูกค้าในการใช้บัตรเครดิต ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น KTC จึงได้ทำการแบ่ง Segment ลูกค้าตามลักษณะ Lifestyle ที่แตกต่างกันของลูกค้า เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามบัตรที่ลูกค้าเลือก เช่น Auto Card สำหรับกลุ่มที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ หรือคนรักรถ, Entertainment Card เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ชอบกิน ดื่ม เที่ยว และดิ้น หรือTravel Card ก็เหมาะสำหรับกลุ่มที่ชอบการท่องเที่ยว เป็นต้น